ท่านที่กำลังทำหรือประสงค์จะทำคริสตจักรเครือข่ายหรือคริสตจักรเครือข่ายบ้านหรือต้องการสนับสนุน โปรดแจ้งให้ทางพันธกิจทราบเพื่อจะได้ช่วยเชื่อมโยงกับที่อื่นๆเพื่อจะช่วยเหลือกันและกันได้อย่างกว้างขวาง แจ้งมาที่ networkchurchministry@gmail.com / ดาวโหลดเอกสารแนะนำ

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผู้รับใช้ฆราวาส ท่านคือคนสำคัญ

โดย  ดร.ศิลป์ชัย  เชาว์เจริญรัตน์

คำว่า "ผู้รับใช้ฆราวาส" มาจากคำสองคำ  "ผู้รับใช้" กับ "ฆราวาส"    คำว่า "ผู้รับใช้" ก็คือผู้รับใช้พระเจ้า   ซึ่งหมายถึงผู้ที่คอยทำตามความประสงค์ของพระเจ้า  มุ่งทำให้พระเจ้าพอพระทัย ไม่ว่าตัวเองจะพอใจหรือไม่ก็ตาม 
 
ส่วน "ฆราวาส" แปลว่า ผู้ดำเนินชีวิตในทางโลก, ผู้ครองเรือน  และความหมายอีกนัยหนึ่งคือ ชาวบ้านทั่วไปที่มิใช่นักบวช   
ซึ่งก็ตรงข้ามกับคำว่า นักบวชหรือ บรรพชิต สงฆ์  ซึ่งในทางของคริสเตียนก็หมายถึง คริสตชนทั่วไปที่ไม่ใช่อาจารย์  ศิษยาภิบาล  บาทหลวง  หรือผู้รับใช้เต็มเวลาที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินหรือการเลี้ยงชีพจากคริสตจักรหรือหน่วยงานคริสตชนใดๆ

ฉะนั้น "ผู้รับใช้ฆราวาส" ในความหมายของคริสตชนจึงหมายถึงคริสเตียนธรรมดาทั่วไปที่อุทิศตนรับใช้พระเจ้าอย่างจริงจังในบทบาทของผู้นำพันธกิจ โดยที่ตนเองเป็นคนทำงานเลี้ยงชีพตนเอง ตามโอกาสและความถนัด  โดยไม่ได้รับการสนับสนุนการเลี้ยงชีพจากคริสตจักรหรือหน่วยงานคริสเตียนใดๆ   (าษาอังกฤษที่เป็นทางการจะเรียกกันว่า Lay minister หรือบางทีก็เรียก Bivocational minister)
อีกคำที่มีความหมายเดียวกับผู้รับใช้ฆราวาส ก็คือ "ผู้รับใช้แบบเย็บเต๊นท์" ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Tent maker ซึ่งเป็นการอ้างถึงอาชีพเสริมของท่านเปาโล ที่แม้ว่าท่านจะเป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่ได้รับการยอมรับอย่างสูง  เป็นถึงอัครทูตที่ถูกแต่งตั้งโดยพระเยซูคริสต์โดยตรง  แต่ท่านกลับไม่ยึดติดว่าต้องรับใช้แบบอาชีพที่คริสตจักรทั้งหลายต้องถวายทรัพย์ให้ท่าน  เมื่อใดก็ตามที่ท่านไม่มีคริสตจักรหรือพี่น้องคริสตชนที่สนับสนุนการเลี้ยงชีพ   ท่านก็สามารถหาเลี้ยงชีพตนเองด้วยอาชีพเสริมที่ท่านพอทำได้ นั่นคือการรับจ้างเย็บเต๊นท์  

อย่าง ไรก็ดี ต้องเข้าใจว่าคำว่า ผู้่รับใช้ฆราวาส มักจะไม่ถูกใช้เพื่อหมายถึง คริสเตียนที่ช่วยรับใช้ในงานบริการทั่วๆ ไปในคริสตจักร หรือผู้ที่ทำงานรับใช้แบบไม่จริงจัง  แต่มักจะใช้หมายถึงผู้ที่รับใช้พระเจ้าอย่างจริงจังในบทบาทของผู้นำพันธกิจ เช่น ตั้งคริสตจักร  บริหารคริสตจักร ประกาศ  เทศนาสั่งสอน หรือแม้แต่เป็นมิชชันนารี  ความจริงจังที่ว่านี้มักจะหมายถึงการต้องอุทิศตัวเองในเรื่องเวลามากพอ สมควร 

อีกเรื่องที่ต้องเข้าใจก็คือ การเป็นผู้รับใช้ฆราวาสอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ทำงานเลี้ยงชีพตนเองเสมอไป  หลายท่านสามารถเป็นผู้รับใช้ฆราวาสได้โดยอาจไม่ต้องไปทำงานอาชีพก็ได้  เช่น บุคคลนั้นอาจมีธุรกิจที่มั่นคงแล้วและมีผู้รับผิดชอบแทนจนตัวเองไม่ต้องไปใ้ช้เวลาเพื่อทำงานนั้นแล้ว    หรือเขามีเงินออม   มีเงินปันผลจากการลงทุน  หรือมีครอบครัวที่ยินดีสนับสนุน  หรือแม้แต่มีมรดก เป็นต้น

ผู้รับใช้ฆราวาสสำคัญอย่างไร?

เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า ผู้รับใช้ฆราวาสคือกุญแจสำคัญของการเพิ่มพูนคริสตจักร เพราะการทำพันธกิจต้องใช้ผู้นำจำนวนมาก 
หากต้องใช้ผู้รับใช้เต็มเวลา ก็จำเป็นต้องใช้เงินสนับสนุนด้านเงินเดือนหรือเงินเลี้ยงชีพเป็นจำนวนมาก    แต่ เงินมักมีน้อยกว่างานพันธกิจเสมอ   ด้วยเหตุนี้ผู้รับใช้ฆราวาสจึงเป็นผู้ที่สามารถทำให้งานของพระเจ้าดำเนินไป ได้ แม้ว่าจะไม่มีเงินสนับสนุนเลยก็ตาม

ทั่วโลกมีผู้รับใช้ฆราวาส เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ทีี่ทำหน้าที่เป็นศิษยาภิบาล  เนื่องจากคริสตจักรจำนวนมากมีขนาดเล็ก จำนวนสมาชิกน้อยและยากจน จึงไม่อาจมีเงินถวายพอที่คริสตจักรจะมีศิษยาภิบาลที่ทำงานเต็มเวลาได้  คริสตจักรจำนวนมากทั่วโลกจึงต้องพึ่งพาศิษยาภิบาลฆราวาส (lay pastor)  ที่ต้องทำงานเลี้ยงชีพไปด้วย และทำงานรับใช้พระเจ้าไปด้วย     

มิชชันนารีก็เช่นเดียวกัน  มีคริสเตียนจำนวนมากที่อุทิศตัวไปเป็นมิชชันนาีรีเพื่อประกาศข่าวดี โดยต้องทำงานเลี้ยงชีพไปด้วย  เรียกว่าเป็นมิชชันนารีฆราวาส (lay missionary)  แต่ขณะเดียวกันก็มีการเรียกมิชชันนารีแบบนี้ว่า "มิชชันนารีอาชีพ" หรือ career missionary ด้วย  เนื่องจากว่า มิชชันนารีเหล่านี้มักต้องไปในคราบของผู้มีอาชีพอย่างใดอย่างหนึ่ง  ซึ่งก็เป็นประโยชน์มากในการเข้าไปในประเทศที่ไม่อนุญาตให้มิชชันนารีเต็มเวลาเข้า  

มีรายงานว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกา ในบางคณะมีศิษยาภิบาลที่เป็นผู้รับใช้ฆราวาส ไม่น้อยกว่าหมื่นคนเลยทีเดียว เพราะคริสตจักรมีเงินน้อย   และถ้านับทั่วโลก ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการ แต่ก็เชื่อประเมินคร่าวๆ ได้ว่า มีผู้รับใช้ฆราวาสอยู่นับเป็นแสนๆ คน โดยเฉพาะในประเทศยากจน  และประเทศที่ต่อต้านข่าวประเสริฐ เช่นประเทศจีน  อินเดีย  และกลุ่มประเทศมุสลิม 

จุดแข็งและจุดอ่อนของผู้รับใช้ฆราวาสคืออะไร?

จุดแข็งของผู้รับใช้ฆราวาสมีหลายข้อ

1. รับใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา  ไม่ต้องรอการสนับสนุนทางการเงินจากใครหรือที่ใด   เนื่องจากเลี้ยงดูตนเองได้

2. รับใช้โดยไม่ต้องเกรงใจผู้ใด  เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพิงการสนับสนุนทางการเงินจากผู้ใด   สามารถทำตามสิ่งที่ตนเองเชื่อมั่นได้เต็มที่

3. เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่คริสเตียนคนอื่นๆ   ทำให้พวกเขาเห็นว่าคริสเตียนทุกคนต้องเป็นผู้รับใช้พระเจ้า  และต้องรับใช้โดยไม่หวังผลประโยชน์   ผู้คนจะวางใจมากเพราะไม่มีผลประโยชน์เลย   
4. ผู้รับใช้ฆราวาสมักสามารถใช้อาชีพของตนเป็นช่องทางให้เข้าถึงสังคมได้ง่ายกว่าการเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา  โดยเฉพาะการเ้ข้าถึงคนที่อยู่ร่วมแวดวงอาชีพเดียวกัน เช่น  การเป็นครูก็ทำให้สามารถเข้าถึงเพื่อนครูและนักเรียน ไปจนถึงผู้ปกครองนักเรียน เป็นต้น  
5. นอกจากนี้ ผู้รับใช้ฆราวาสในบางอาชีพที่สังคมยอมรับนับถือ  นิยมชมชอบ  ก็จะเอื้อประโยชน์ให้แก่การประกาศอย่างมาก  เช่นอาชีพหมอ  พยาบาล ครู  นักธุรกิจ  ข้าราชการ  นักวิชาชีพ  ผู้เชี่ยวชาญ นักการเมือง  ศิลปิน ดารา ฯลฯ   

6. ทำให้ลดการทดลองเรื่องผลประโยชน์เรื่องเงิน หรือเรื่องการต้องพยายามดึงดูดสมาชิกให้มีความภักดี ซึ่งอาจช่วยให้สามารถพูดหรือทำในสิ่งที่ถูกต้องจริงๆ ได้ง่ายขึ้น  (แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป)   

อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับความจริงว่า การเป็นผู้รับใช้ฆราวาสก็มีจุดอ่อนอยู่บ้าง  คือ

1. ผู้รับใช้ฆราวาสมักถูกบีบคั้นด้วยความจำเป็นในอาชีพทำให้ต้องใช้เวลากับการทำงานอาชีพมากจนไม่มีเวลาพอสำหรับการรับใช้  

2. ผู้รับใช้ฆราวาสในบางอาชีพอาจต้องเผชิญกับปัญหาตามปกติของอาชีพนั้นซึ่งอาจสร้างปัญหาในงานรับใช้ได้   เ่ช่น บางอาชีพมีเวลาทำงานไม่แน่นอน  หรือ
ต้องเดินทางอยู่เสมอจนไม่สามารถทำงานรับใช้ในที่ๆ ตั้งใจได้

3.
บางท่านอาจเลือกเป็นผู้รับใช้ฆราวาส ไม่ใช่เพราะความเสียสละ  แต่เป็นเพราะคิดว่า การเป็นฆราวาส ทำให้มีรายได้ดีกว่าเป็นผู้รับใช้เต็มเวลา  แต่ขณะเดียวกัน การมีสถานภาพผู้รับใช้ด้วยก็จะทำให้ได้รับเกียรติมากกว่าเป็นคริสเตียนทั่วไป   สรุปก็คือ เป็นผู้รับใช้ฆราวาสไม่ใช่เพราะอุทิศตัวเสียสละ  แต่เป็นเพราะอยา่กได้ทั้งเกียรติทั้งเงิน
4. ผู้รับใช้ฆราวาสอาจถูกทดลองให้ไมู่้ทุ่มเทในพันธกิจอย่างจริงจัง หากเขารู้สึกว่า ฉันทำโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน เพราะฉะนั้นไม่ต้องทุ่มเทก็ได้ และไม่มีใครมีสิทธิจะมาตำหนิฉัน  
5. ผู้รับใช้ฆราวาสอาจถูกทดลองให้ไม่รักษาชีวิตให้เป็นแบบอย่างอย่างเต็มที่เพราะรู้สึกว่า เราไม่ได้เป็นผู้รับใช้เต็มเวลา  เป็นเพียงผู้รับใช้ฆราวาส  ฉะนั้นไม่ต้องระมัดระวังชีวิตมากนัก 

จะทำอย่างไรถึงจะเป็นผู้รับใช้ฆราวาสได้

1. ตระหนักว่า ใครๆ ก็เป็นผู้รับใช้ฆราวาสได้  ขอเพียงมีความตั้งใจจริง  
2. สิ่งที่คนที่จะรับใช้พระเจ้าทุกท่านต้องมีก็คือ ชีวิตที่พอเป็นแบบอย่างได้ และความรู้ความสามารถขั้นพื้นฐานในการรับใช้  

3.ไม่ต้องห่วงว่า เรายังดีไม่พอ หรือยังรู้ไม่พอ เก่งไม่พอ  ทุกอย่างมีจุดเริ่ม และต้องพัฒนาีชีวิตให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดยั้ง  ว่าไปแล้วก็ไม่มีใครดีพอจริงๆ สักคน  
4. สิ่งที่เราต้องทำคือ เริ่มต้นทันที และเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง  แล้วพระเจ้าจะทรงพัฒนาเราขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

5. พัฒนาตนเองด้วยการอ่าน  เข้าเรียน  เข้าสัมนาอบรม  (ทั้งแบบเป็นหลักสูตรระยะสั้นหรือยาว ตามที่พอจัดเวลาได้)  ฟัง ถาม  ขอคำปรึกษา  หรือดูแบบอย่าง  ดูงาน  

6. หาพี่เลี้ยง  หาที่ปรึกษา  หาครูบาอาจารย์และผู้รับใช้พระเจ้าที่ขอคำปรึกษาขอคำแนะนำได้  แม้จากคนที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน


7. หาที่ที่เราสามารถเริ่มการรับใ้ช้แบบผู้นำได้  เช่น ประกาศ  สอน เทศนา  นำ  บริหารจัดการ  อาจเริ่มจากทำตัวต่อตัว  การเป็นพี่เลี้ยง  กลุ่มเซลล์  แคร์  กลุ่มย่อย  กลุ่มคริสเีตียน  คริสตจักรในที่ๆ ยินดีให้เราทำพันธกิจ   ไปช่วยเหลือคริสตจักรหรือพันธกิจที่ขาดผู้นำผู้รับใช้   ไปช่วยเหลือคริสตจักรหรือพันธกิจที่ยากลำบากในต่างประเทศ  หรือเริ่มต้นคริสตจักรใหม่  พันธกิจใหม่  เป็นต้น  

8. จัดระเบียบชีวิต จัดเวลา จัดงบประมาณ ให้ตัวเองสามารถทำงานรับใช้แบบฆราวาสได้อย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ   อย่าทำเพียงชั่วคราว  

สรุป

เราต้องยอมรับว่า ผู้รับใช้ทั้งเต็มเวลาและผู้รับใช้ฆราวาสต่างมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด  งานของพระเจ้ายังขาดผู้รับใช้ทั้งสองประเภท   แต่ต้องยอมรับว่าถ้าจะให้งานของพระเจ้าเคลื่อนไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น  ผู้รับใช้ฆราวาสคือความจำเป็นอย่างยิ่ง   

ฉะนั้นคริสตชนทุกท่าน  ท่านเป็นความจำเป็นสำหรับงานของพระเจ้า จงอย่าเป็นแต่เพียงสมาชิกคริสตจักร  แต่จงก้าวไปอีกขั้นคือ เป็นผู้รับใช้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รับใช้ที่ต้องการอย่างมากเวลานี้คือ

...เป็นผู้รับใช้ฆราวาส





2 ความคิดเห็น:

  1. เว็บไซด์ตัวอย่างของผู้รับใช้ฆราวาสที่ถวายตัวรับใช้ ด้วยการประกาศทางเว็บ
    และรับปลดปล่อยคนป่วยที่รักษายาก วิญญาณรบกวน หรือรักษาไม่ได้ทั่วประเทศ
    www.idmt.org

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ26 เมษายน 2566 เวลา 13:19

    ขอบคุณพระเจ้าครับ...เราต่างเป็นผู้รับใช้ของพระเจ้า...

    ตอบลบ

นี่เป็นเวทีเสรีแต่โปรดสุภาพและไม่พาดพิงผู้อื่นอย่างไร้จริยธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้ระบุชื่อจริง กองบก.ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับบทความและความคิดเห็นอีกทั้งอาจลบหรือแก้ไขหากเห็นว่าไม่เหมาะสม ส่งความคิดเห็นโดยตรงต่อกองบก.ได้ที่ networkchurchministry@gmail.com

คริสตจักรเครือข่ายบ้าน's Facebook Wall